เรื่องย่อ : Dont Look Up (2021) ดูหนังออนไลน์ หนังใหม่ ดูหนังHD ดูหนังฟรี MovieHD24 หนัง2024 หนังออนไลน์ Full HD
Dont Look Up (2021)
นักดาราศาสตร์โนเนมอย่าง ดร.แรนดัล มินดี้ (ลีโอนาร์โด ดิคาพรีโอ) และ เคต ดิบิแอสกี้ (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) นักศึกษาปริญญาเอกของเขาได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยแต่ไม่น้อยตามชื่อเพราะมันมีขนาดใหญ่มากกว่า 9 กิโลเมตร กำลังจะพุ่งชนโลกในอีกหกเดือนข้างหน้า ซึ่งขนาดของมันทำลายล้างโลกได้เลยนั่นสร้างความตื่นตระหนกให้กับแรนดัลและเคตเป็นอย่างมาก ทั้งสองเดินทางไปพบดร.เท็ดดี้ โอเกิลธอร์ป และเข้าพบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเพื่อบอกหายนะโลกครั้งนี้ แต่ประธานาธิบดีกลับให้รอดูสถานการณ์ไปก่อนเพราะเธอกำลังยุ่งอยู่กับการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้งสามจึงนำเรื่องนี้ไปบอกกับนักข่าว ทว่าพวกเขาเหล่านั้นกลับทำเป็นเรื่องตลกและมีคนไม่เชื่อ
Adam McKay
[CR] รีวิว Don’t Look Up เมื่อ ผู้นำโง่ เราจะตายกันหมด + ฝีมือนักแสดงเทพ !
Netflix ก็ยังคงมีหนังให้เราดูได้เรื่อยๆ แม้จะมีน่าเบื่อบ้าง ไม่ลงตัวบ้างแต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นค่าย Streaming Service ที่ทำหนังออกมาได้เรื่อยๆให้เราดูได้แบบไม่น่าเบื่อ และมีอะไรใหม่ๆให้ดูได้ตลอดเวลา และในเรื่อง Don’t Look Up เองนั้นเป็นหนังที่ผมรอมานานมากๆ เพราะว่าด้วย ชื่อของ ผกก และ นักแสดงที่ต้องบอกว่าเกรด AAA ทั้งหมด ยิ่งได้ Leonardo DiCaprio , Jennifer Lawrence , Cate Blanchett และ Meryl Streep บอกเลยว่าไม่ธรรมดาแน่นอน ด้วยฝีมือแบบนี้หนังออกมาสนุกแน่ๆ และได้ ผกก Adam Mckay มาร่วมด้วยที่กำกับหนัง The Big Short บอกเลยว่า ไม่ควรพลาดไปดูนักแสดงก็ไม่เสียเวลาแล้ว และเรื่องนำเสนอได้ดีมาก เกี่ยวกับการเมือง การที่เรามีผู้นำแบบโง่ๆตัดสินใจอะไรแบบไม่ได้คิด และ การเมืองแบบแบ่งพรรคพวก สื่อทื่อวยรัฐบาลตัวเอง หรือการเอาเปรียบประชาชน การปิดข่าว ต่างๆมันมาครบมากๆ เหมือนกับเรื่องราวที่ เราเจอกันในเรื่องจริงในหลายๆที่เลยทีเดียวแต่เอามาเล่าแบบ จิกกัด ตลกร้ายนิดๆในเรื่องนี้ทำให้มันมีความน่าสนใจและเล่าเรื่องได้ดีด้วย
เนื้อหาแน่นอนว่า ตอนแรกคิดว่าจะทำได้ลึกหรือสุดกว่านี้นะแต่เท่าที่ดูเหมือนทาง ผกก เองจะยั้งๆมือหรือไม่กล้าสุดกว่านี้เลยทำให้มันอาจจะไม่ได้ แซะ จิกกัดแรงอะไรมาก มาแบบเบาๆพอสนุกสนานและผสมกับความเรียลนิดๆในบางช่วง แต่บางทีก็มีตลกเข้ามาเสริมทำให้มันเป็นหนังตลกร้ายจิกกัดมากกว่า จะเน้นทางจริงจัง แบบที่เราเคยเห็นโทนหนังแบบ The Big Short พวกนั้นครับ แต่ก็ถือว่าทำได้ดูเพลิน และสนุกแม้จะไม่ลึกแต่ก็ดีกว่าหลายๆเรื่องของ Netflix เลยทีเดียว และ เล่าเรื่องแบบเส้นตรงเรียบๆ ตามลำดับแต่ตัดต่อได้สนุก จังหวะหนังดีอันนี้ทำให้เราดูได้เพลินๆ และ บทเองก็ส่งทั้งนักแสดงทุกคน ทำให้ทุกคนเอาอยู่และไม่มีใครแบกหนังเพราะทำได้ดีทุกคนที่ออกมาบนจอ
นักแสดง Leonardo DiCaprio , Jennifer Lawrence , Cate Blanchett และ Meryl Streep รวมถึง Rob Morgan , Jonah Hill และ อีกมากมายนั้น ทำได้ดีมากๆ และ ทาง ลีโอ และ เจน ลอร์ บอกเลยว่ายังคงฝีมือ การสื่ออารมณ์ได้ดี และ ยังได้ Meryl มาร่วมแจมก็แสดงได้เข้าถึงตัวละครมากๆ แม้ช่วง End Credit อาจจะไม่ค่อยเห็นเล่นแนวๆนี้เท่าไรก็ตาม แต่ไม่ควรพลาด ทั้ง 2 ตัวเลย หลังหนังจบ รวมถึงในหลายๆฉากที่ต้องแสดงผ่านทางหน้าตา หรือ แววตา เหล่านักแสดงสลับกันแสดง มาร่วมฉากได้ดีครับถือว่าภาพรวมนั้นไม่มีที่ติเลยแม้แต่น้อย ซึ่งบางทีก็เสียดายว่าในหลายๆอย่างน่าจะจิกกัดให้สุด และนักแสดงก็น่าจะทำได้สุดกว่านี้ถ้าบทเค้าส่งกว่านี้นั้นเองครับซึ่งภาพรวมถ้าถามว่าในเรื่องนี้สิ่งที่ดีที่สุดก็น่าจะเป็น ชุดทีมนักแสดงทั้งหลักและย่อยหรือประกอบที่โผล่มาทำได้ดี
งานภาพแน่นอนว่าไม่ได้เน้นมุมภาพสวยงามอะไรแต่ขอชม CG ในบางฉากว่าสวยเนียนมากๆในฉากปล่อยยานต่างๆรวมถึงในอวกาศทั้งหลาย ส่วนเพลงประกอบอะไรธรรมดาครับไม่ได้เน้นหรือเด่นเป็นที่จดจำซักเท่าไรในเรื่องนี้
ภาพรวมเป็นหนังที่เราน่าจะดูแล้วเข้าถึงในหลายๆอย่าง เข้าใจทั้งการเมืองที่พยายามจะสื่อสาร ถ้าผู้นำที่โง่ไม่คิดอะไร ตัดสินใจไม่เป็น ทำอะไรเน้นพวกพ้อง เข้าข้างกันเอง ปิดข่าว อวยกันเองพวกนี้ พาประเทศชาติล่มจม คนตายกันได้แน่นอนครับ ซึ่งส่งผลถึงทั่วโลก รวมถึงในหนังเองยังคงเล่ามุมมองทั้ง 2 ฝ่าย มีทั้งฝ่ายสนันสนุน และ ฝ่ายที่ไม่สนับสนุน ทำให้มันสนุกและเห็นถึงอะไรหลายๆอย่างที่หนังพยายามจะสื่อ การแซะการเมือง เทรนด์ในโลกตอนนี้ ความคิดของคนสมัยนี้ หรือแม้แต่ การให้ความสนใจข่าวบันเทิงมากกว่า ข่าวที่กระทบกับชีวิตของตัวเองอีกมากมายบอกเลยว่าไม่ควรพลาดครับ มันอาจจะไม่ได้ดีลึกที่สุด แต่ก็สามารถเข้าใจอะไรหลายๆอย่างและดูสนุกไปได้ในตัว
By N I N E Z T R
[รีวิวหนัง] Don’t Look Up: จิกกัดและเสียดสีให้ดูแย่ แต่ในความเป็นจริงก็แย่พอกัน
นี่เป็นภาพยนตร์ที่เสียงแตกมากที่สุดในบรรดาภาพยนตร์ที่เข้าชิง Best Picture ในปีนี้ (Rotten Tomatoes 55% หมายความว่านักวิจารณ์เกือบครึ่งไม่ชอบภาพยนตร์เรื่องนี้) แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลของการที่จะเลือกไม่ดูภาพยนตร์ที่คับคั่งไปด้วยเหล่านักแสดงรางวัลออสกร์ อาทิ Leonardo DiCaprio, Jennifer Lawrence Cate Blanchett Meryl Streep และอีกมากมาย
Don’t Look Up สร้างจากเรื่องราวที่ “อาจจะเกิดขึ้นจริง” (Based on Truly Possible Events) เมื่อ Kate Dibiasky (รับบทโดย Jennifer Lawrence) สาวนักศึกษาปริญญาเอกสาขาดาราศาสตร์มหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้บังเอิญตรวจพบดาวหางที่มีขนาดกว่า 10 กิโลเมตร และกำลังจะพุ่งเข้าชนโลกในอีก 6 เดือนข้างหน้า เธอจึงปรึกษากับ Dr. Randall Mindy (รับบทโดย Leonardo DiCaprio) อาจารย์หัวหน้าคณะของเธอ ถึงการรับมือกับภัยพิบัติที่ร้ายแรงถึงขนาดกวาดล้างมนุษยชาติจนสูญพันธุ์ได้ ทั้งคู่จึงต้องร่วมมือกับ Dr. Teddy Oglethorpe (รับบทโดย Rob Morgan) หัวหน้าสำนักงานประสานงานพิทักษ์โลก ในการหาทางรับมือกับภัยพิบัตินี้ร่วมด้วย Orlean ประธานาธิบดีหญิงของสหรัฐอเมริกา (รับบทโดย Meryl Streep) เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้รอดพ้นจากวิกฤติใหญ่ครั้งนี้
อ่านจากเรื่องย่อหลายคนคงนึกว่าหนังเรื่องนี้จะต้องมีการปฏิบัติภารกิจกอบกู้โลกเหมือนใน Armageddon (1998) ที่เชิดชูฮีโร่และความเสียสละอะไรทำนองนั้น แต่ด้วยความที่นี่เป็นงานของผู้กำกับ Adam McKay ผู้ซึ่งถนัดในงานแนวจิกกัดเสียดสีสังคม ทั้งการจิกกัดวงการการเงินตอนเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ใน The Big Short (2015) หรือการเล่าเรื่องของ Dick Cheney ผู้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัวจริงที่ชักใยเบื้องหลัง George W. Bush ในภาพยนตร์เรื่อง Vice (2018) จึงไม่น่าแปลกใจถ้าเกิด Don’t Look Up จะมีท่าทีของการเสียดสีผู้คน วงการสื่อ และรัฐบาลอเมริกันอย่างเจ็บแสบตลอดทั้งเรื่อง (หรืออาจจะโดนรัฐบาลประเทศอื่นด้วย)
ในเรื่องจะเห็นว่าหนังพยายามจะเสียดสีทั้งประเด็นเล็กๆ ตั้งแต่เรื่องราวของบุคคล ทั้งการมีชื่อเสียงแล้วทะนงตัวขึ้นของ ดร.แรนดัล การที่มหาลัยไม่ดังคนก็ไม่เชื่อถือ การยัดเงินเพื่อเข้ารับตำแหน่ง จนไปถึงประเด็นใหญ่ๆ อย่างคนในสังคมที่เพิกเฉยต่อคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์และมักมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ วงการสื่อที่มุ่งเน้นแต่จะขายข่าวดราม่า ข่าวบันเทิง เพื่อเรียกเรตติ้งและการทำงานของรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อคนทั้งโลกจากการตัดสินใจของคนแค่กลุ่มเดียว (แถมด้วยการอุ้มคนเห็นต่างด้วยการจับขึ้นรถแล้วคลุมหัว เอ๊ะ คุ้นๆ)
ด้วยการจิกกัดอย่างตรงไปตรงมานี้เอง ทำให้ตัวละครใน Don’t Look Up นั้นมีแต่ความวายป่วงและแบนราบไร้มิติอย่างสิ้นเชิง (อาจเป็นเหตุผลที่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ไม่ชอบ) ทั้งประธานาธิบดีหญิงออลีน ที่วันๆสนใจอยู่แต่การกู้ภาพลักษณ์จากข่าวฉาว แม้โลกจะแตกก็ไม่สำคัญเท่าคะแนนเสียงของเธอ หรือนักธุรกิจที่สนใจแต่ผลทางกำไรของธุรกิจจนยอมแลกได้แม้กระทั่งความเป็นความตายของคนทั้งโลก นักข่าวสาวที่ทำให้ข่าวดาวหางกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งจะว่าไปลักษณะนี้ก็คล้ายกับผู้นำเผด็จการหลงตัวเองจอมเฟอะฟะใน The Dictator (2012) (ซึ่งคะแนนจากนักวิจารณ์ก็ไม่ต่างกัน) แต่หากเราเข้าใจในสิ่งที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อสารออกมา ซึ่งน่าจะรับรู้แล้วตั้งแต่คำโปรยที่อยู่บนโปสเตอร์ว่า ‘Based on Truly Possible Events’ มันก็คือการประชดนั่นแหละ
แต่กระนั้นสารที่ถูกซ่อนไว้อีกชั้นหนึ่งของ Don’t Look Up คือการรณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อน ทั้งการใช้ดาวหางแทนสัญลักษณ์ของความภัยพิบัติ และตัวละครต่างๆก็เป็นภาพจำลองของบุคคลจริงๆ เช่นเมื่อเราลองมองไปที่ตัวละคร เคท ของ Jennifer Lawrence ดีๆ จะพบว่า ตัวละครนี้เป็นเหมือนภาพจำลองของสาวน้อยนามว่า เกรต้า เทนเบิร์ก (Greta Thunberg) นักรณรงค์ด้านสภาพแวดล้อมชาวสวีเดน โดยการกระทำที่เคทได้รับในเรื่องนั้นเหมือนกับที่เกรต้าได้รับไม่มีผิดเพื้ยน ทั้งการถูกนำรูปไปตัดต่อล้อเลียน การที่ถูกอดีตประธานาธิบดีอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวหาว่าเป็นพวกคุมอารมณ์ไม่ได้ก็เช่นกัน รวมถึงการพูดจาขวานฝ่าซากตรงไปตรงมาก็เป็นอีกหนึ่งบุคลิกของเกรต้าด้วย
หรือตัวละครประธานาธิปดีหญิงออลีนก็เป็นการถอดแบบมาจากโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เขาออกมาบอกว่าาภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องโกหกก็ตรงกับในเรื่องที่ออลีนแทบไม่สนใจเรื่องดาวหางเลยแม้แต่น้อย แม้กระทั่งตัวละครนักธุรกิจอิเชอร์เวลก็มีส่วนผสมของประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐอย่าง โจ ไบเดน แทบจะเหมือนกันในลักษณะการพูดและท่าทาง(ฉากแอบดมผมผู้หญิงในเรื่องก็ตรงกับพฤติกรรมของไบเดนด้วย) ผสมกับนักธรุกิจอย่างอีลอน มัสก์ และ ความเป็นเจ้าเทคโนโลยีแบบ สตีฟ จ็อบส์ อย่างละนิดละหน่อย
และตัวละคร ดร.แรนดัล ของ Leonardo ก็แทบจะไม่ต้องบอกว่าเป็นภาพจำลองของเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ออกมาพูดปากจนจะฉีกถึงหูแล้วว่า โลกเรากำลังเผชิญกับสภาวะโลกร้อน และควรช่วยกันยับยั้งไม่ให้มันเลวร้ายลงไปกว่านี้ แต่ก็เหมือนกับในเรื่องนั้นแหละ ฉากที่ ดร.แรนดัลระเบิดอารมณ์ในรายการข่าว แม้ว่าเขาจะพูดด้วยท่าทีจริงจังแค่ไหน มันก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมาเลยแม้แต่น้อย (และตัวลีโอเองก็เป็นหนึ่งในคนที่รณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อนอยู่แล้วด้วย)
(นี่บทพูดของ ดร.แรนดัล ในรายการข่าวและเป็นครั้งสุดท้ายที่เขามีโอกาสได้พูดต่อหน้าสาธารณะชน)
“มีดาวหางดวงใหญ่มุ่งมายังโลก และเหตุผลที่เรารู้ว่ามีดาวหาง เพราะว่าเราเห็น เราเห็นมันด้วยตาของเราเอง ด้วยการใช้กล้องส่องทางไกล”
“คือว่าให้ตายเถอะ ยิ้มถ่ายภาพมันเอาไว้ได้ด้วยซ้ำ จะเอาหลักฐานอะไรอีก!”
“และถ้าเราเห็นตรงกันเรื่องพื้นฐานสุดๆอย่างเรื่องดาวหางดาวยักษ์ขนาดเท่าเทือกเขาเอเวอเรสต์ กำลังมุ่งหน้าตรงมายังโลก ยิ้มโคตรไม่ใช่เรื่องดี”
“เราน่าจะเปลี่ยนวิถีดาวหางนี้ ตอนที่เรายังมีโอกาสทำได้ แต่เราไม่ทำ ผมไม่รู้ทำไมเราไม่ทำ”
“ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกายิ้มกำลังโกหกอยู่!!!”
“ผมหวังอย่างยิ่งว่า ประธานาธิบดีคนนี้จะรู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ ผมหวังว่าเขาจะดูแลเราทุกคน แต่ความเป็นจริงคือ ผมคิดว่าไอ้รัฐบาลนี้ ยิ้มเสียสติกันไปหมดแล้วโว้ย!!! และผมคิดว่าพวกเราจะตายห่ากันหมด!!!!!!!!!!!!!!!!”
(ทีนี้ลองเปลี่ยนเป็นเรื่องสภาวะโลกร้อนแทนดู)
.
อีกทั้งความหมายของ Don’t Look Up ยังเปรียบเสมือนการกวาดขยะซ่อนเอาไว้ใต้พรม หรือการไม่ให้ความสำคัญของสิ่งหนึ่งแต่หันไปสนใจอีกสิ่งแทน (เหมือนวงการบันเทิงบ้านเรากรณีน้าเน็กกับทิดไพรวัลย์ที่กลบกระแสคดีของหมอกระต่ายซะเกลี้ยงเลย)
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่หนังใส่เข้ามา ทั้งเรื่องพวกอนุรักษ์นิยม เรื่องศาสนา ฯลฯ ถ้าจะให้พูดก็คงไม่จบ เอาเป็นว่าใครที่ยิ่งเห็นจุดที่หนังแทรกเอาไว้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสนุกและคิดตามไปด้วยมากเท่านั้น เป็นอีกหนึ่งความบันเทิงที่ขึ้นอยู่กับบุคคลจริงๆ (แม้จะหนักไปทางสังคมตะวันตกไปสักหน่อย)
ในด้านการเล่าเรื่องแน่นอนว่านี่คือหนังที่สนุกที่สุดในบรรดาหนังที่เข้าชิง Best Picture บนเวทีออสการ์ในครั้งนี้ เพราะมันดำเนินตามขนบหนังทั่วๆไป ไม่ต้องมานั่งหาวเพราะความเชื้องช้าเพราะแช่ภาพนานๆ เหมือนที่หนังรางวัลเรื่องอื่นๆ ชอบทำกัน พล็อตเรื่องก็ตรงๆเข้าใจง่าย ไม่ต้องตีลังกาดูหลายตลบก็เข้าใจสิ่งที่หนังจะสื่อได้ (ไม่มีคำถามตอนจบเรื่องทำนองว่า เอ๊ะ เมื่อกี้ฉันดูอะไรไป(วะ))
.
ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ เมื่อ ดร.แรนดัลระเบิดลงกลางรายการไปแล้ว จากนั้นดีกรีความจิกกัดจะลดลงแทบเป็นศูนย์ เหมือนเป็นการบอกใบ้กลายๆว่า “ฉันได้พูดสิ่งที่อยากจะพูดไปแล้ว ที่เหลือก็แล้วแต่เวรแต่กรรมแล้วกัน”
เรื่องนักแสดงคงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณใดๆ เพราะแต่ละคนล้วนเป็นยอดฝีมือทั้งนั้น แม้ว่าตัวละครหลายๆตัวมันจะแบนราบไร้มิติ แต่พวกเขาก็แสดงออกมาได้อย่างที่มันควรจะเป็น (ส่วนตัวหมั่นไส้ Meryl Streep ที่สุด) ส่วนเรื่องโปรดักชั่นและงานCGI ถือว่ามีคุณภาพอยู่ในระดับเยี่ยม ทั้งฉากปล่อยกระสวยอวกาศ ฉากดาวหางบนท้องฟ้า ที่ช่วยเพิ่มความสมจริงกับตัวหนังได้มากทีเดียว
สรุป Don’t Look Up เป็นภาพยนตร์ที่เสียดสีและจิกกัดสภาพสังคมมนุษย์ในปัจจุบัน แล้วยังเป็นนักรณรงค์ที่ไม่ได้ทำท่าทีแบบว่า “พวกเรามาช่วยกันปกป้องโลกนี้เถอะ” แต่เป็น “รีบทำอะไรสักอย่าง ก่อนที่จะตายห่ากันหมด” มากกว่า เพื่อให้เราฉุกคิดว่าเหตุการณ์ในหนังมันควรจะเป็นแค่ “เรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นจริง” หรือมันอาจจะกำลังเกิดขึ้นจริงในโลกแห่งความเป็นจริงก็ได้
Don’t Look Up เข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 94 ประจำปี 2022 ทั้งหมด 4 สาขา ได้แก่ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม
REVIEW: Don’t Look Up
.
“การที่โลกทั้งใบโดนทำลาย ไม่ควรจะเป็นเรื่องตลก”
— Don’t Look Up ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ อดัม แม็คเคย์ (Adam McKay) สื่อสารประเด็นนี้กับผู้ชมโดยหยิบเอาปัญหาซีเรียสๆ อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อมโลกมาทำให้กลายเป็นหนังตลก!
ความร้ายกาจของภาพยนตร์ตลกร้ายที่กำลังมาแรงที่สุดใน Netflix เรื่องนี้เกิดจาก อดัม แม็คเคย์ ผู้กำกับและคนเขียนบทได้ค้นพบ ‘ความจริง’ ที่ว่า ปัญหาบางอย่างที่ซีเรียสและสำคัญมากๆ กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาวิกฤตสภาพอากาศ ไม่ว่าข้อมูลต่างๆ จะเป็นวิทยาศาสตร์ขนาดไหน หรือข้อมูลจะถูกนำเสนอกันตรงๆ จะๆ เพียงใด ชาวโลกก็ยังเพิกเฉยต่อปัญหาดังกล่าว เสมือนหนึ่งว่าปัญหานั้นไม่เคยมีอยู่จริง หรือแม้จะมีอยู่จริง ฉัน-ก็-ไม่-เชื่อ หรือไม่อยากเงยหน้าขึ้นมองดูหรือรับรู้ความจริงอะไรทั้งนั้น และที่ตลกกว่านั้นก็คือ บางกลุ่มคน (โดยเฉพาะสื่อมวลชน) ยังชอบทำให้ข่าวที่เรียกร้องสติในการรับรู้สูง ออกมา ‘เบา’ และ ‘บันเทิง’ ทั้งที่บางเรื่องมันจำเป็นต้องหนัก ซีเรียส และไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาเล่นสนุกกัน!
Don’t Look Up เล่าเรื่องราวความหายนะของชาวโลกในหลากหลายมิติ ผ่านความตึงเครียดของนักดาราศาสตร์ 2 คน ดร.มินดี้ (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ออสการ์ ปี 2016) และ เคท (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ออสการ์ ปี 2013) ที่บังเอิญค้นพบว่าโลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่หลวงในระดับทำลายล้างมวลมนุษยชาติ เพราะภายในระยะเวลา 6 เดือนกว่าๆ ข้างหน้าจะมีดาวหางขนาดมหึมาพุ่งเข้าชนโลก และมนุษย์ทุกคนจะต้องตาย!
ทั้งคู่พยายามอธิบายความจริงอันแสนเจ็บปวดนี้กับท่านประธานาธิบดี เพื่อเร่งหาทางแก้ไขหรืออย่างน้อยก็ตั้งรับได้ทัน (ประธานาธิบดีรับบทโดย เมอรีล สตรีป ออสการ์อีกคน! หลายปีด้วย!) แต่แล้วสถานการณ์กลับพลิกผันรุนแรง ทั้งคู่กลับต้องเจอวิกฤตปัญหาที่หนักหนายิ่งกว่า นั่นก็คือคนในระดับผู้นำไม่ได้สนใจปัญหานี้มากไปกว่าคะแนนนิยมหรือผลประโยชน์ของตัวเอง! ทั้งๆ ที่ ดร.มินดี้ มีความพยายามในการนำเสนอข้อมูลแบบวิทยาศาสตร์ ตรงไปตรงมา ไม่ยึดโยงกับมิติการเมืองใดๆ
และไม่ใช่แค่คนในระดับ #ผู้นำประเทศ เท่านั้น สองนักดาราศาสตร์ยังต้องช็อกกับปฏิกิริยาตอบสนองของทั้ง #สื่อมวลชน #คนทางบ้าน #นักธุรกิจ #วงการบันเทิง และ #ชาวเน็ต ที่เห็นเรื่องนี้เป็นอื่นไป อาจเพราะอัลกอริทึ่มในหน้าจอที่เราก้มหน้าก้มตาไถกันอยู่ทุกชั่วโมงหรืออะไรบางอย่าง ทำให้ชาวโลกยังคงเพิกเฉยต่อปัญหาซึ่งหน้า บ้างสนุกกับการนำมาผูกโยงกับประเด็นทางการเมือง จนปัญหาที่น่าจะได้รับการแก้ไขแบบเรียบง่ายกลายเป็นเรื่องแบ่งฝ่ายจนแก้ไขได้ยุ่งยาก (หรือไม่ต้องพูดเรื่องแก้กันหรอก แค่คุยเรื่องเดียวกันให้สำเร็จก็ยากแล้ว) บ้างสร้างมีมเรียกยอดไลก์และกระแสนิยม นักร้องขายเพลงฮิต คนทำหนังขายหนังแบบโหนกระแส สื่อยังคงขายข่าวแบบไม่สนโลก รู้ว่าโพสต์แบบไหนเข้าทางมหาชนก็เขียนโพสต์แบบนั้น คนจะเกลียดชังหรือฆ่ากันก็ปล่อยผ่าน พ่อค้ายังคงทำธุรกิจแบบหวังรวยเละ และชาวเน็ตที่ชอบหัวเราะก็ยังคงเดินหน้าหัวเราะเยาะปัญหาที่ทับถมตัวเองเป็นกองเท่าภูเขาน้ำแข็ง เป็นภูเขาน้ำแข็งที่ดูเหมือนจะไม่ยอมละลายตามสภาพอากาศโลก
ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่ที่มีจุดร่วมเดียวกันอย่างชัดเจน แต่มนุษย์กลับเป็นเผ่าพันธุ์ที่ตลกเกินไป ความแตกต่างแบ่งแยกบวกกับความโง่เขลาและเห็นแก่ตัวทำให้เราโฟกัสปัญหาเดียวกันได้ไม่ชัด ไปจนถึงเข้าขั้นมองไม่เห็นทางออกอะไรเลย เพราะทำไปทำมาก็ขัดขากันเองในที่สุด
เป็นหนังสะท้อนปัญหาในสังคมอเมริกัน (ใครจะบอกว่าประเทศอื่นก็แล้วแต่ แต่ในหนังมันชัดเจนว่าอเมริกาน่ะ) กล่าวกันอย่างวิทยาศาสตร์และในเชิงข้อมูล ตัวละครต่างๆ ในเรื่องก็ตรงกับตัวละครในสังคมอเมริกันยุคนี้สุดๆ ใครอยากดูว่าตรงแค่ไหน แนะนำให้ดู Mockumentary เรื่อง Death to 2021 สารคดีปลอมที่เล่าสรุปข่าวจริงๆ รอบโลกใน Netflix ดู หลายฉากคุณจะได้เห็นตัวละครคล้ายในเรื่อง Don’t Look Up ไปปรากฏตัวอยู่ เหมือนได้ดูบางซีนของหนังเรื่องนี้ฉายซ้ำในอีกเวอร์ชั่นที่แสดงโดยบุคคลในโลกจริง (มีเรื่อง Death to 2020 ด้วยนะ เป็นสรุปข่าวของปี 2020 หากดูก่อนได้ก็จะดีจะได้เห็นภาพปัญหาต่อเนื่อง)
และด้วยความที่เป็นการสะท้อนปัญหาสังคมในอเมริกา แน่นอนสิ มันก็คือการสะท้อนปัญหาสังคมโลกไปด้วย อย่างที่เรารู้กันดีว่า อเมริกามีทัศนะว่าตัวเองก็คือโลก และในเมื่อประเทศที่เป็นผู้นำเช่นนี้เจอปัญหาหนักอย่างนี้ ประเทศอื่นๆ ที่หลงเดินในแนวทางเดียวกันก็คงไม่เหลือ
ความขัดแย้งรุนแรงในแต่ละประเทศหนักข้อขึ้นทุกวัน และชาวโลกยังคงยุ่งกับอะไรบางอย่างตลอดเวลา เวลาที่จะแก้ปัญหาที่สำคัญจริงๆ มันเลยหายไปไหนหมดก็ไม่รู้
โดยคำศัพท์แล้ว คำว่า ‘Look Up’ แปลว่า ‘ค้นหาข้อมูล’ ไม่ว่าจะจากในหนังสือหรือฐานข้อมูล และยังมีความหมายว่า ‘ดีขึ้น’ ในแง่ของสถานการณ์ด้วย โดยหน้าหนัง เราเห็นภาพโปรโมตที่นักแสดงทุกคน ‘เงยหน้า’ เป็นรูปธรรมตามชื่อหนัง แต่โดยนัย หนังอาจกำลังบอกเล่าว่าชาวโลกและผู้นำโลกไม่ได้ค้นหาข้อมูลหรือไม่ได้สนใจหาทางออกอะไรแบบซีเรียสๆ สักที และอะไรๆ ก็ไม่ดีขึ้นเลย แม้ว่าเวลาจะผ่านมา 75 ปี นับจากข้อมูลในปี 1947 ที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์เริ่มจดและสังเกตเห็นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลก หรืออย่างน้อยก็ผ่านมาประมาณ 15 ปีแล้ว ที่สาธารณชนได้ดู An Inconvenient Truth (ปี 2006) ภาพยนตร์สารคดีให้ความรู้เกี่ยวกับ ‘ภาวะโลกร้อน’
ปัญหาที่ว่าโลกทั้งใบจะโดนทำลายอย่างแน่นอน ชนิดที่ข้อมูลเป็นวิทยาศาสตร์ 100% และสำคัญระดับความเป็นไปของมวลมนุษยโลก (‘โลก’ เลย ปัญหานี้ใหญ่กว่าแค่ระดับชาติ) ปัญหาระดับนี้ดูใหญ่โต แต่ก็ดูจะยังไม่ใหญ่พอที่จะเอาชนะแอร์ไทม์ของประเด็นไร้สาระรายวัน ไม่ว่าจะเป็นข่าวชีวิตส่วนตัวของนักการเมืองที่ทำตัวทุเรศทุรัง กอสสิปดนดัง ความสนุกในการสร้างมีมสลับกรี๊ดหลัวของชาวเน็ต ฯลฯ หนังเล่าแบบแสบๆ ว่า ชาวโลกน่ะไม่สนใจเรื่องที่สำคัญจริงๆ หรอกนะ เรายุ่งมากเพราะมัวแต่สนใจ #อะไรก็ไม่รู้ กันอยู่ และที่เราเป็นแบบนี้เพราะ #ไม่มีทางเลือก เราเอาแต่รอให้อัลกอรึทึ่มหรืออะไรก็ไม่รู้เลือกตอนจบของชีวิตให้ ทั้งๆ ที่แค่เงยหน้าขึ้นเลือกทำอะไรสักอย่างที่มันถูกก็พอแล้ว
#อำนาจ ทั้งในระดับการเมืองการปกครอง และในระดับที่ล่อให้คนผูกติดตัวเองกับกระแสนิยมทำให้ใครต่อใครหลงทิศ ชนิดที่ว่าต่อให้เป็นนักดาราศาสตร์เนิร์ดๆ อย่าง ดร.มินดี้ ก็ยังเป๋
หลายสิ่งที่เรามีอยู่แล้วถูกมองไม่เห็นค่า ไม่ว่ามนุษย์จะมีอะไรอยู่แล้วมากสักแค่ไหน ก็ดูเหมือนมันจะไม่เคยพอ และแทนที่โซเชียลมีเดียจะช่วยหลอมรวมโลกเป็นหนึ่งเดียว มันกลับให้ผลเป็นรูปธรรมในทางตรงกันข้าม ตรรกะของโลกถูกหมุนกลับตาลปัตร รอวันให้ดาวหางพุ่งมาชนก็เท่านั้น
คงไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะได้ ‘มองเห็น’ ความจริงแท้ ได้รับการให้อภัย หรือให้อภัยใครสักคนในวันสุดท้ายของชีวิต บางคนไม่มีโอกาสขนาดนั้น โดยเฉพาะผู้ที่ยังเสาะแสวงหาหนทางในการเอาเปรียบคนอื่นๆ อยู่โดยไม่รู้จักหยุดหย่อน
และสำหรับคนที่ดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว ฉันคิดว่าถ้าได้นั่งทบทวนสักนิดอาจพบว่าหนังเรื่องนี้มันแสบ แสบที่มันหลอกล่อให้เราหัวเราะเยาะปัญหาของตัวเองหน้าตาเฉย แถมหลายคนยังอดไม่ได้ ต้องโพสต์บอกคนในเน็ตว่า “หนังแสบ รีบดู” พอดูจบก็ไม่ต้องหาข้อมูลอะไรทั้งนั้น รีบเขียนรีวิวเรียกไลก์เถอะ! แน่นอนว่า จากพล็อตหนัง คนในระดับปกครองและข้าราชการต้องถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ เพราะตัวขับเคลื่อนหลักในเรื่องเป็นถึงประธานาธิบดีเชียว ผู้นำที่ซีเรียสแต่เรื่องเอาตัวรอดจะไม่พาให้ประชาชนไปถึงไหนหรอก แต่ก็นั่นล่ะ เราต้องไม่ลืมว่า หนังก็ไม่ได้พูดแค่เรื่องนั้นเรื่องเดียว มันมีหลายคน หลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า อะไรกันแน่ที่สำคัญกับชีวิตจริงๆ และอะไรกันแน่ที่เราควรใช้เวลาชีวิตไปเพื่อแลกมันมา?
สำหรับการแคสตัวแสดง ฉันขอชื่นชมที่เป็น ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ นะ ไม่ใช่เพราะแค่ฝีไม้ลายมือในการแสดงแบบทุ่มสุดตัวเท่านั้น แต่เขายังเป็นนักสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมตัวเป้งด้วย ประสบการณ์ในงานด้านนี้ทำให้เขามีอินเนอร์และสื่อสารมันออกมาได้ดีเป็นพิเศษ ดิคาปริโอทั้งเคยทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อาทิ ‘11Th Hour’ ใน ปี 2007, ‘Virunga’ ในปี 2014 และก่อตั้งมูลนิธิที่ระดมทุนเพื่อทำงานช่วยโลกในหลายรูปแบบ เขาทำเช่นนี้มานานแล้ว (จะไม่โทษคุณหรอก ถ้าคุณไม่เคยรู้เลย เพราะอัลกอริทึ่มอาจไม่พาคุณไปถึงข่าวคราวด้านนั้น แล้วข่าวก็ไม่ติดเทรนด์ด้วย) Don’t Look Up ถือว่าเป็นหนังรวมดาวที่สื่อสารเรื่องดาวหางและดาวโลกในเชิงเปรียบเปรยได้ดี ซึ่งฉันเองชอบวิธีคัดสรรนักแสดงของหนังเรื่องนี้มาก มันไม่ใช่แค่เพราะพวกเขาเป็นดาวดัง แต่เป็นเพราะประเด็นสำคัญประมาณนี้ ใช้นักแสดงฝีมือระดับนี้ นับว่าใหญ่โตเหมาะสม
ผู้กำกับอย่าง อดัม แม็คเคย์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้อย่างชัดเจนใน space.com และหลายสื่อในต่างประเทศว่า เขาตั้งใจทำหนังเรื่องนี้โดยมีแก่นแท้เป็นเรื่องวิกฤตสภาพอากาศ แต่ก็ไม่วายที่จะออกตัวในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เพียงแค่ดูหนังจบก็คงไม่พอที่จะแก้ปัญหาได้ ถ้าขาดการตระหนักรู้ ความตั้งใจจริง และการลงมือทำ* —จุดนี้ฉันเห็นด้วยมากๆ เพราะโดยส่วนตัวรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ยังไม่เจ๋งพอที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การปฏิบัติจริง (Call to Action) อะไรมากนัก แย่กว่านั้นคือ ผู้ชมชาวไทยจำนวนไม่น้อยไม่รู้เลยว่าหนังกำลังเสียดสีเราในประเด็นสิ่งแวดล้อมอยู่ เรามองเห็นและพูดถึงหนังเฉพาะในส่วนที่เราอยากมอง และมอง ‘ไม่เห็น’ ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมตรงหน้าทั้งที่หนังกำลังบอก ซึ่งฉันเองก็พยายามวิเคราะห์อย่างเป็นธรรมว่าทำไมคนดูบางส่วนถึงไม่เห็นประเด็นนี้ แล้วก็พบว่า เป็นไปได้มากที่ตัวหนังมีความกระจัดกระจาย ใส่หลายอย่างเข้ามามากเกินไปจนอาจทำให้ขาดจุดโฟกัส แถมความตลกและจำนวนนักแสดงดังยังมาแย่งซีนและมา ‘บัง’ ความจริงไว้อีก เรียกได้ว่ารูปแบบของหนังมันดันมาตลกร้ายหายนะกับแก่นแท้ของตัวหนังเอง คนดูก็เลยหลุด และยังก้มหน้าก้มตาทำพฤติกรรมกรรมเดิมๆ ซึ่งจุดนี้หนังก็ถูกวิจารณ์พอสมควรในต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ในฐานะของหนังตลก ก็ต้องยอมรับว่า Don’t Look Up เป็นหนังตลกที่ซีเรียสมากๆ เรื่องหนึ่ง และบทก็มีรายละเอียดความหมายยิบย่อย โดยเฉพาะไดอะล็อกบนโต๊ะอาหารในตอนท้ายเรื่อง ที่ดิคาปริโอใส่ประโยคสุดท้ายของ ดร. มินดี้ เข้าไปเองโดยไม่มีในสคริปต์ เป็นประโยคที่ทำให้เคทและแม็คเคย์ต้องหลั่งน้ำตา และทำให้หนังเกิดอิมแพ็กมากกว่าการชนของดาวหางซะอีก (และก็นั่นล่ะ แม็คเคย์ขายข่าวโปรโมตประโยคนี้ได้หลายหน้าเลย ใครไม่ทันประโยคนี้ ลองกลับไปดูอีกรอบได้)
เมื่อเทียบกับ Death to 2021 แล้วแม้เรื่องหลังก็เป็นหนังตลกเสียดสีและไม่ใช่หนังดีเลิศ (โดยส่วนตัวฉันรู้สึกว่าออกจะหยาบๆ และฝืดๆ) แต่ก็ดูจะทำให้เกิดแรงกระแทกในเชิงการตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า เพราะในหนังบรรจุภาพข่าวจริงๆ ไว้เยอะ มีภาพทะเลเพลิงในเม็กซิโกที่อยากให้ลองเปิดดูกัน ภาพจริงไม่จกตาจ้ะ เป็นภาพที่ชวนให้นึกถึงวันสิ้นโลกเป็นอย่างสูง และทั้งๆ ที่ Death to 2021 ไม่ได้เคลมว่าตัวเองเป็นหนังสิ่งแวดล้อมอะไรเลย ก็ยังมีภาพรวมของข่าวสารสิ่งแวดล้อมโลกที่ชวนให้เราได้เงยหน้ารับรู้ความเป็นไปในโลกมากขึ้น (แต่ก็นั่นเอง หนังทั้ง 2 เรื่องไม่ตลกสำหรับฉันทั้งคู่ ดูแล้วออกแนวหดหู่และขำไม่ออกมากกว่า อาจเพราะตัวเองไม่ถนัดดูหนังแนวเสียดสีสักเท่าไหร่)
ไม่แน่ใจเลยว่าคนอื่นๆ ดู Don’t Look Up แล้วรู้สึกอะไรกับหนังบ้าง และรู้สึกอะไรกับตัวเองบ้างไหม ต่อปัญหาหนักและใหญ่อะไรก็ตามในโลกนี้ หนังได้ช่วยจูงใจให้เราก้าวเท้าเข้าไปในฟากฝั่งของคนที่ ‘พยายาม’ จะแก้ปัญหานั้นต่อไปไหม? หรือมันเป็นเพียงหนังที่ดูแล้วแค่ได้เสียงฮาและความสะใจแล้วก็จบ? ถ้าเป็นอย่างหลังก็คงต้องบอกว่าหนังเรื่องนี้เข้าขั้นล้มเหลว และนับเป็นการใช้งบประมาณและเวลาชีวิตไปอย่างสิ้นเปลือง
สำหรับฉันแล้ว ตอนดูหนังจบใหม่ๆ รู้สึกหมดแรงเล็กๆ หดหู่หน่อยๆ แต่พอตั้งหลักได้ก็พบว่า มันก็เป็นเรื่องท้าทายดีเหมือนกันที่ต้องฮึด ตั้งหลัก ตั้งสติ แล้วใช้ชีวิตแบบเข้าใจความสำคัญของสิ่งต่างๆ จริงๆ อย่าไปหวังพึ่งหนังให้มาอินสไปร์หรือพึ่งอะไรนอกตัวมากเกินไป โดยเฉพาะในอนาคตข้างหน้าที่ไม่มีใครรู้ เงยหน้าแล้วเดินต่อ มองปัญหาให้ชัด แล้วแก้ไขไปในทุกๆ วัน
และเพื่อให้สมกับเป็นรีวิวหนังสิ่งแวดล้อม ถ้าใครไม่รู้ว่าจะทำอะไรก่อนดี ลองคลิกดูข้อมูลหรือสนับสนุนการทำงานของคนเหล่านี้ดูนะ แรงเหวี่ยงเล็กๆ จากปลายนิ้วของเราอาจช่วยโลกได้บ้าง:
Global Green
World Wildlife Fund
Re:wild
Greta Thunberg
Greenpeace Thailand
WWF-Thailand
CHULA Zero Waste
GEPP
Won
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
มูลนิธิโลกสีเขียว
ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป
รักษ์กันคนละนิด a little bit caring
.
“พวกเราอาจจะหยุดดาวหางไม่ได้ แต่พวกเราสามารถหยุดปัญหาวิกฤตสภาพอากาศได้” — ดร.มินดี้ในหนังไม่ได้กล่าว แต่ดิคาปริโอในโลกจริงกล่าวไว้** และฉันหวังให้ชาวโลกผู้น่ารักและตระหนักรู้ทุกคน เงยหน้าขึ้นมองปัญหาอย่างจริงจัง จริงใจ และกล่าวเช่นเดียวกัน
The Midnight Sky (2020) สัญญาณสงัด
Project Almanac (2015) กล้า ซ่าส์ ท้าเวลา
The Martian (2015) กู้ตาย 140 ล้านไมล์